Social Icons

บทความน่ารู้


การสอนลูกเรื่องไอศกรีมมีความสำคัญอย่างไร? 


ไอศกรีม (ice-cream) หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า ไอติม เป็นของหวานที่ได้จากการนำส่วนผสม คือนมไปผ่านการฆ่าเชื้อแล้วนั้น นำไปปั่นในที่เย็นจัด (freezing) เพื่อเติมอากาศเข้าไป พร้อมๆกับการลดอุณหภูมิ โดยอาศัยเครื่องปั่นไอศกรีม ไอศกรีมตักโดยทั่วไปจะต้องผ่านขั้นตอนการแช่เยือกแข็งอีกครั้งก่อนนำมาขายหรือรับประทาน


กำเนิดไอศกรีมมีมานานประมาณ 4000 ปีแล้ว มีเรื่องเล่าหลายตำนาน บ้างก็เล่าว่ากำเนิดสมัยจักรพรรดิเนโรแห่งจักรวรรดิโรมันที่ทำไอศกรีมขึ้นมาจากเกล็ดน้ำแข็งผสมน้ำผึ้งและผลไม้ แล้วพระราชทานเลี้ยงไอศกรีมที่ทำขึ้นแก่ทหาร บางก็เล่าว่าไอศกรีมเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศจีนที่ต้องการถนอมอาหารหายากคือ น้ำนม โดยนำน้ำนมที่รีดได้ไปหมกใต้หิมะ และบ้างเล่าว่าไอศกรีมเกิดขึ้นที่ประเทศอังกฤษสมัยพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 มีพ่อครัวคนหนึ่งนำครีมแช่แข็งไปปรุงรสเกิดเป็นขนมหวานถวายกษัตริย์ เมื่อพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ถูกลอบปลงพระชนม์โดย โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ระหว่างสงครามกลางเมืองอังกฤษ ระหว่างปีค.ศ. 1642 – 1651 พ่อครัวลี้ภัยไปยุโรป จึงได้นำสูตรไปเผยแพร่ ไอศกรีมจึงเป็นที่รู้จักในชนชั้นสูง


ประเทศไทยเริ่มมีไอศกรีมในรัชกาลที่ 5 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จอินเดีย ชวาและสิงคโปร์ แล้วนำน้ำแข็งเข้ามาจากสิงคโปร์และเริ่มทำไอศกรีมจากน้ำมะพร้าวอ่อนก่อน ต่อมาจึงทำจากกะทิใสๆ และค่อยๆเปลี่ยนแปลงพัฒนาใส่กะทิข้นมากขึ้น มีน้ำตาลเป็นส่วนผสม และมีลอดช่อง เมล็ดแมงลัก ขนุนฉีกผสมเข้าไป ปั่นให้แข็งเวลารับประทานจะตักเป็นลูกๆ รับประทานกับถั่ว ข้าวเหนียว ลูกชิด บางคนนิยมรับประทานกับขนมปังหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ หรือผ่าขนมปังตรงกลางตักไอศกรีมกะทิวางตรงกลางขนมปังแล้วรับประทาน นอกจากนี้ไอศกรีมอีกแบบที่พัฒนาขึ้นในประเทศไทยราวรัชกาลที่ 7 คือ ไอศกรีมชนิดที่ทำด้วยน้ำหวาน ใส่หลอดสังกะสีและเขย่าให้แข็ง มีก้านไม้เสียบ และชนิดที่ใช้นมเป็นส่วนผสม ทำให้แข็งตัดเป็นแท่งสี่เหลี่ยมหรือตักใส่ถ้วยรับประทาน


ไอศกรีมเป็นสื่อที่สามารถนำมาใช้กระตุ้นการเรียนรู้ของเด็ก รวมทั้งร้านไอศกรีมซึ่งจัดเป็นบรรยากาศให้การเรียนรู้น่าเรียน สามารถตอบสนองความสนใจใคร่รู้ของเด็กปฐมวัย ช่วยให้เด็กเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ที่มีความหมาย ช่วยสร้างแรงจูงใจให้เด็กอยากเรียน เพราะเด็กจะได้ใช้ประสาทสัมผัส หลายส่วน จึงเป็นการช่วยพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กและช่วยความทรงจำของเด็กอย่างถาวร กล่าวคือ ลักษณะของเด็กปฐมวัยจะสนใจสิ่งที่อยู่รอบตัวเพราะเป็นธรรมชาติของเด็กเล็กที่จะพยายามทำความเข้าใจกับสิ่งรอบตัวด้วยการสัมผัสแตะต้องสิ่งเหล่านั้น เด็กจะมีปฏิกิริยาตอบสนองและสามารถรับรู้ด้วยประสาทสัมผัส ร่างกายของเด็กจะถูกกระตุ้น เป็นผลให้เซลล์สมอง (นิวโรนส์) ที่มีอยู่แล้วในสมองตั้งแต่แรกเกิดจะสร้างเครือข่ายเพื่อติดต่อถึงกัน การที่เด็กได้เห็นสีสัน ชิมรสไอศกรีม ได้กลิ่นหอมหวาน และได้สัมผัสความเย็นของไอศกรีมจึงเป็นการใช้ประสาทสัมผัสจากตา ลิ้น จมูกและผิวกาย ไอศกรีมจึงเป็นสื่อที่เหมาะแก่ใช้เพื่อส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก


การสอนลูกเรื่องไอศกรีมมีประโยชน์อย่างไร? 

การสอนลูกเรื่องไอศกรีมมีประโยชน์ต่อเด็กดังนี้คือ
  • เด็กจะได้รับการส่งเสริมทักษะภาษา ในการสอนภาษาสำหรับเด็กปฐมวัยตามแนวความคิดใหม่ที่จะให้ความสำคัญกับการสร้างและเชื่อมโยงความหมายในการเรียนรู้ภาษาของเด็กรวมทั้งเจตคติที่ดีต่อภาษา การเรียนรู้ภาษาของเด็ก ทั้งการพูด การฟัง การอ่าน การรู้ตัวหนังสือ และการเขียนจะพัฒนามาจากการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตจริง และทำอย่างมีความหมาย 
  • เด็กจะได้เรียนรู้ธรรมชาติวิทยาศาสตร์ การนำวัตถุดิบมาปรุง และเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นไอศกรีมนั้นจะทำให้เด็กปฐมวัยจะได้รับการพัฒนากระบวนการทางสืบค้นเพื่อสร้างความรู้ด้วยตนเอง ซึ่งมีทักษะพื้นฐานอยู่ 5 ทักษะ คือ
    • ทักษะการสังเกต คือ การใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้าในการสังเกต คือ ตาดู จมูกดมกลิ่น ลิ้นชิมรส ผิวกายสัมผัส 
    • ทักษะการเปรียบเทียบ คือ การนำสิ่งของสองสิ่งหรือมากกว่ามาเทียบเพื่อดูความเหมือน ความแตกต่างของคุณลักษณะของสิ่งของนั้นๆ เช่น ใหญ่-เล็ก หนัก-เบา เป็นต้น 
    • ทักษะการจำแนก คือ การแยกสิ่งต่างๆ ตามเกณฑ์ที่กำหนด แล้วนำสิ่งของที่แยกได้มารวมกลุ่มตามเกณฑ์นั้น 
    • ทักษะการวัด คือ การเลือกและใช้เครื่องมือวัดปริมาณสิ่งของออกมาเป็นตัวเลขที่แน่นอนได้อย่างเหมาะสมและถูกต้องโดยมีหน่วยกำกับเสมอ 
    • ทักษะการสื่อความหมายข้อมูล คือ การนำเอาข้อมูลดิบ ซึ่งได้จากการสังเกต การเปรียบเทียบ การวัด การจำแนก มาจัดทำใหม่ เช่น การเรียงลำดับ หาความถี่ คำนวณหาค่าใหม่ และนำเสนอรูปแบบใหม่ เช่น ตาราง หรือ แผนภูมิ เป็นต้น 
  • เด็กจะได้เรียนรู้คณิตศาสตร์สำหรับเด็ก ซึ่งเป็นการเรียนรู้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับจำนวน ตัวเลข การคิดคำนวณ หรือการดำเนินเกี่ยวกับจำนวน การวัด เรขาคณิต หรือรูปแบบสัมพันธ์ การวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งต้องใช้ความคิดที่เป็นระเบียบ มีเหตุผล และความคิดสร้างสรรค์ 
  • เด็กได้รับการพัฒนาความรู้สึกชื่นชมงานศิลปะ สี และกลิ่นต่างๆ ที่ผสมในเนื้อไอศกรีมทำให้ไอศกรีมน่ารับประทานเป็นที่ชื่นชอบของเด็กๆ ยิ่งนัก การออกแบบตกแต่งไอศกรีมจากวัสดุต่างๆ เพิ่มสีสันในถ้วยไอศกรีม การตกแต่งไอศกรีมจึงเป็นสิ่งที่สร้างความรู้สึกให้เด็กชื่นชมศิลปะได้เป็นอย่างดี 
  • เด็กได้เรียนรู้การใช้หรือทำงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี หากใช้เครื่องปั่นไอศกรีม เด็กจะได้เห็นเครื่องมือที่คนเราประดิษฐ์เพื่อทำไอศกรีม ตลอดจนเครื่องใช้ที่จำเป็นอื่นๆ เช่น ตู้เย็น ช้อนตัก ถ้วยตวง มีดหั่น เครื่องชั่ง เป็นต้น 
  • เด็กได้เรียนรู้เรื่องราวทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมและชุมชน เช่น เรื่องการกินอาหาร คนเราต้องการอาหารเพื่อตอบสนองความต้องการพื้นฐานของตนเอง ดังนั้น ไอศกรีมจึงเป็นอาหารประเภทขนมที่มีคุณค่าทางอาหารและให้ความรู้สึกเย็นสบาย ผู้ที่รับประทานจะรู้สึกสบายใจ มีความสุข อีกประการหนึ่งคือ เรื่องการดูแลสุขภาพตนเองเพื่อดำรงชีวิตในสังคมอย่างปกติ เมื่อเด็กรับประทานไอศกรีมแล้ว เด็กจะเรียนรู้เรื่องการทำความสะอาดปากและฟัน ตลอดจนการรู้จักเลือกรับประทานไอศกรีมที่สะอาด เพื่อประโยชน์ทางต่อสุขภาพ


บทความน่ารู้ ย้อนหลัง 
เครื่องทำไอศครีม


 
Blogger Templates